Monthly Archives: October 2010

อาวุโส

บล็อกนี้ไม่เหมาะกับคนที่มีอาวุโส เพราะว่าอ่านไปแล้วคงจะไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตนมีความอาวุโสจริงหรือไม่ ลองอ่านดูแล้วกัน

หมายเหตุ เนื้อหาด้านล่างนี้ เป็นความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งอาจแตกต่างได้ตามบุคคล

สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้ความเคารพความอาวุโสเป็นอย่างมาก ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งประจำประเทศเลยทีเดียว ซึ่งทุกท่านก็คงทราบ ว่าการเคารพความอาวุโสมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ สิ่งที่ผมจะเขียนถึงต่อไปนี้ อยากจะลองถามท่านที่คิดว่ามีอาวุโสทั้งหลายว่า ท่านมีอาวุโสจริงๆ ตามมุมมองของผมหรือเปล่า

อาวุโส ในที่นี้ ผมหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คนใดๆ โดยคนหนึ่งคือผู้ถูกเคารพ อีกคนหนึ่งคือผู้เคารพ ตัวอย่างของอาวุโสที่เราเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง อาจารย์กับลูกศิษย์ หัวหน้ากับลูกน้อง

ตามความเข้าใจของผม ในสมัยก่อน ผู้ถูกเคารพจะเป็นฝ่ายถูกเสมอ ผู้เคารพจะต้องรับฟังฝ่ายเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ค่านิยมต่างชาติเข้ามา ผู้ถูกเคารพบางคนไม่ทำตัวให้น่าเคารพ จึงเกิดแนวความคิด  เลือกเคารพในจุดที่เหมาะสม เลือกเคารพเป็นเรื่องๆในเรื่องที่ควรเคารพ

คนที่ควรเคารพเป็นอย่างไร? คนที่ควรเคารพก็คือ คนที่มีความอาวุโสจริงๆ นั่นแหละ

ผมจะไม่พูดถึงผู้ถูกเคารพที่ไม่น่าเคารพ ที่ตั้งใจใช้ความอาวุโสปลอมๆ ของเค้าในทางที่ไม่ดี แต่บล็อกนี้ผมอยากจะพูดถึงผู้ถูกเคารพที่เจตนาดี แต่อาจจะลืมอะไรบางอย่างไป

ต้องมองย้อนกลับไปว่า ระบบอาวุโสนั้น เกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ให้ ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า มีสติ ควบคุม เข้าใจ แก้สถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า คอยดูแลคนที่ด้อยกว่า เป็นตัวอย่างให้คนที่ด้อยกว่า

สำหรับผมแล้ว การสั่งสอนที่ดีที่สุด คือ การทำเป็นตัวอย่าง เพราะเราในฐานะผู้อาวุโส จะได้ทั้งการสั่งสอนสิ่งที่ต้องการสอน และเพิ่มพูนความน่าเคารพของตนไปในคราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดบอก แล้วทำเป็นตัวอย่าง หรือการทำเป็นตัวอย่างให้เห็นก่อน แล้วค่อยพูดบอก ล้วนใช้ได้ผลดีทั้งนั้น

แต่จากที่ผมสังเกต บางครั้งการสั่งสอนของผู้ถูกเคารพมีความผิดพลาด ทำให้เกิดผลกลับกัน ทั้งผู้เคารพไม่เชื่อฟัง และความน่าเคารพลดลง

ตัวอย่างเช่น

ครอบครัวหนึ่ง มีพ่อกินเหล้าเมายา เมื่อเมาแล้วมักจะทำให้งานที่ทำอยู่มีปัญหา และบางครั้งใช้กำลังกับแม่ แม่ผู้ซึ่งแบกรับความเสียใจไว้แต่ใช้ความเสียใจนั้นออกมาไม่ถูกต้อง เมื่อเห็นลูกชายของตนไปดื่มเหล้าสังสรรค์กับเพื่อนเพียงเล็กน้อย กลับพูดด้วยอารมณ์

“ทำไมถึงไปดื่มเหล้า ไม่เห็นพ่อมึงหรือไง เมาหัวราน้ำ วันๆ ไม่ทำงานทำการอะไร มันดีตรงไหน เห้อ”

ลูกผู้รู้สึกว่าตนดื่มเพียงนิดเดียวทำไมถึงถูกด่าว่าขนาดนั้นนี้ จึงไม่สนใจไม่เถียงอะไร แต่กลับไปดื่มกับเพื่อนอีกครั้งเมื่อมีโอกาส เมื่อแม่รู้แม่จึงพูดอีกว่า

“บอกแล้วไม่ฟังหรือไง ว่าอย่าไปกินเหล้า ชั้นพูดหลายครั้งแล้วไม่ฟังชั้นนะ จะไปไหนก็ไปเลย เบื่อที่จะพูดแล้ว”

คุณคิดว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 แม่ลูกนี้จะเป็นเช่นไร คุณคิดว่าสิ่งที่ขาดหายไปจากผู้อาวุโส คือ อะไร อะไรที่ทำให้ความน่าเคารพลดลง

สำหรับผมคือ การสั่งสอนด้วยอารมณ์ และความอคติ ครับ

ถ้าอยากจะให้การสื่อสารจากผู้ถูกเคารพไปถึงผู้เคารพ มีประสิทธิ์ภาพที่ดี ผู้ถูกเคารพต้องตัดสองสิ่งนี้ออกไปให้ได้ ในขณะที่ทำการสอน และหลังการสอน

แม่จะต้องบอกลูกด้วยความใจเย็น ค่อยๆ อธิบาย ครั้งแรกในการสั่งสอนอาจจะมีการต่อต้านอยู่บ้าง ในจุดนี้เป็นหน้าที่ของผู้อาวุโส ที่ต้องคอยพร่ำสอนด้วยอารมณ์ที่ดี ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าผู้อาวุโสทำเช่นนี้กับทุกๆ เรื่อง ความน่าเคารพโดยรวมจะสูงขึ้น และเป็นผลให้ผู้เคารพเข้าใจคำสั่งสอนมากขึ้นด้วย การสั่งสอนที่ไม่ได้ผลสำเร็จ ไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกสั่งสอน แต่เป็นความผิดพลาดในการสื่อสารของผู้สอน

สังเกตว่าในกรณีนี้ การทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่การไม่กินเหล้าเป็นตัวอย่าง แต่คือการใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวอย่าง เพราะสิ่งที่จะเป็นต้นตอนของปัญหาต่อไปนั้น จริงๆ แล้ว คือ การทำอะไรโดยใช้อารมณ์ตัดสินของลูกต่างหาก การดื่มเหล้าเป็นผลที่ตามมาทีหลัง

กรณีการว่ากล่าวตักเตือนผู้มีอาวุโสต่ำกว่านี้ ใช้ได้กับ ทุกคู่ ถูกเคารพ-เคารพ ที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้น

อยากให้ลองย้อนกลับไปคิดว่าท่านสั่งสอนทำไม จุดประสงค์ในการสอนคืออะไร ท่านคิดว่าอะไรเป็นตัววัดว่าการสั่งสอนของท่านสำเร็จ หากท่านคิดเหมือนผม ว่าการสั่งสอนที่สัมฤทธิ์ผล คือ การที่ผู้ถูกสอนเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสอน ไม่ใช่การเถียงเพื่อความสะใจหรือเพื่อระบายอารมณ์ของตนที่ไปรับมาจากที่อื่นแล้วหละก็ ตัดอารมณ์และอคติออกไปเถิดครับ

ถ้าเราเจตนาจะสั่งสอนให้เค้าดีจริงๆ เราต้องค่อยๆ พูดด้วยเหตุผล และไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง และต้องเข้าใจว่าคนรับฟังจะต้องมีการต่อต้านเป็นธรรมดา เราได้ทำสิ่งที่เราควรทำอย่างดีที่สุดแล้ว

และการตัดอคติออกไป ไม่ถือโกรธว่าครั้งที่แล้วเราพูดแล้วเค้าไม่ฟัง หรือมีการเถียงกลับ จะทำให้เราสามารถกลับไปตักเตือนเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ได้อย่างน่าฟัง และพร้อมจะมองเห็นการปรับปรุงตัวของเค้า โดยไม่มีอคติบังตา

สำหรับผมแล้ว สรุปง่ายๆ ความอาวุโส คือ ความเข้าใจ ครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จริงๆ เป็นแค่ขั้นพื้นฐานในการสอนนะครับ คือ ต้องตัดอารมณ์ตัวเองออกไปให้ได้ก่อน อาจจะใช้เวลาในการสอนมากหน่อย แต่ถ้าต้องการให้เห็นผลเร็วต้องใช้ ขั้นสูง คือ เลือกสร้างอารมณ์ให้เหมาะสมกับคนที่เรากำลังสอน ระดับนั้นก็ตัวใครตัวมันละกันครับ

ด้วยความปรารถนาดีถึงผู้อาวุโสทุกท่านนะครับ

ขอบคุณครับ

ความอยากดูหนังที่หายไป

ถ้าคุณได้ติดตาม blog ของผมมาโดยตลอด 3 ปีกว่าๆ จะพบว่า blog ที่ผมเขียนถึงส่วนมาก เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่ผมได้ไปดูมา แต่พักหลัง blog ของผมห่างหายไป ไม่ได้ดูหนังแล้วหรือ? หรือขี้เกียจเขียนแล้ว? ณ ตอนนี้มีอารมณ์เขียน blog แล้ว จะมาแถลงไขให้ฟังกันครับ

มาเล่ากันก่อนว่าทำไมถึงชอบดูหนัง?

ความสุขสนานอย่างหนึ่งในช่วงเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมาของผม คือ การศึกษาคน ผมชอบและสนใจ นิสัย อารมณ์ของคนในแบบต่างๆ ว่านิสัยอารมณ์แบบนี้ มีที่มาอย่างไร อาการเป็นอย่างไร จะไปต่ออย่างไร คนรอบข้างจะต้องทำตัวอย่างไร และเราจะช่วยเขาได้อย่างไร ผมจึงชอบมากกับการที่ได้คุยกับคนอื่นถึงความรู้สึก ที่มาและแรงจูงใจ  ในขณะที่เค้าโกรธ ไม่พอใจ ไม่มีความสุข การตัดสินใจครั้งสำคัญต่างๆ ฯลฯ บางครั้งก็กลายเป็นโอกาสให้ผมได้ช่วยให้คำปรึกษา ซึ่งทำให้ผมยินดีและมีความสุขเสมอ แต่แค่นั้นยังไม่จุใจ ผมจึงไปรับและศึกษาคนจากสื่ออื่นๆอีก เช่น ฟังวิทยุ และดูภาพยนตร์

มีอยู่ช่วงหนึ่งผมเป็นแฟนรายการ Club friday อย่างเหนียวแน่น ต้องฟังทุกอาทิตย์ เพราะจะได้ยินเรื่องราวต่างๆ ที่เข้มข้น แบบที่หาฟังจากที่อื่นได้ยาก แถม Dj ยังให้คำแนะนำและกำลังใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การดูหนังก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการศึกษาคนของผม หนังมีความพิเศษกว่าละคร ตรงที่เราจะได้เห็น ลักษณะของคนในแบบต่างๆ ภายในเวลาสั้นๆ อย่างเข้มข้น เห็นตั้งแต่ที่มา ปัจจุบัน และอนาคตของเขาอย่างรวดเร็วในเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยผมจะชอบมากกับหนังที่มีโจทย์ให้ตัวละคร แบบที่ว่าถ้าเราลองสมมติว่าตัวเราเป็นตัวละครตัวนั้น เราก็ไม่รู้ว่าจะเลือกทำอย่างไร เลือกทางไหนดี

ที่ผ่านมาผมจะเลือกดูหนังที่ได้ยินคนบางกลุ่มบอกว่าดีอยู่เสมอ โดยเวลาได้ยินคนบอกว่าหนังเรื่องนี้ดี ผมจะต้องประเมิณดูคนพูดก่อนว่าคนพูด คือ ใครนิสัยอย่างไร ชอบดูหนังแบบใด เพราะคนเราจะมีสไตล์หนังที่ชอบที่แตกต่างกันอยู่ ส่วนตัวผมชอบดูหนังที่มีเนื้อหาดี เนื้อหาสำคัญที่สุดสำหรับผม ตามมาด้วย การแสดง และ production โดยผมจะเป็นแฟน blog ของจิตแพทย์ท่านหนึ่ง ที่ใช้นามแฝงว่า ผมอยู่ข้างหนังคุณ เรื่องไหนที่เขาบอกว่าชอบ บอกว่าดี ผมก็มักจะชอบเช่นกัน ตรงกันกับทางของผมอยู่เสมอๆ

ผมเคยดูหนังถึงเดือนละ 10 เรื่อง น่าจะเป็นช่วงใกล้ๆ การประกาศรางวัลออสการ์ซักปีหนึ่ง ที่มีหนังที่เข้าชิงออสการ์พาเหรดกันเข้าเต็มไปหมด โรงหนังเครือ Apex เป็นโรงที่ผมเป็นแฟนประจำ (ผมได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยให้ได้ดูด้วยตั๋วฟรีจากโรงในเครือนี้มาแล้วถึง 11 รอบ) แต่ถ้าหนังตลาดทั่วไปที่ไม่เข้าโรงพวกนี้ ผมก็สลับสับเปลี่ยนไปดูโรงต่างๆ บริเวณสยาม ขึ้นอยู่กับว่ามีรอบลดราคาที่โรงใด เวลาใดที่เหมาะสมกับผม

ทำไมถึงต้องไปดูหนังที่โรง? ดูหนังแผ่นก็ได้ bit มาดูก็ได้ เรื่องนี้มีหลายสาเหตุ

  • ความหลังฝังใจ ผมเคยได้ยินหนังเรื่องหนึ่งมีคนกล่าวขวัญกันมากมายว่าดีมากสนุกมาก แต่ผมพลาดไม่ได้ดู แล้วพอผมมาดูย้อนหลังผมรู้สึกไม่สนุกเลย ถึงขั้นหลับหน้าจอ จึงเป็นเหตุให้ตั้งใจกับตัวเองไว้ว่า จะพยายามไปดูหนังที่เค้าว่าดี ภายในโรงให้ได้ (เรื่องนั้นคือ United 93)
  • ความอยากดูเร็วๆ ช่วงที่ติดตามมาๆ มีหนังใหม่ก็อยากดูตามกระแส เป็นธรรมดา
  • ความผ่อนคลาย เวลาเข้าโรงหนัง ถ้าได้เจอกับหนังดีๆ ไม่ว่าเราจะทำอะไรมาเหนื่อยแค่ไหนมาก่อน ขณะดูเราจะโดนดูดเข้าไปในหนัง ลืมเรื่องเหนื่อยๆ มึนๆ ทั้งหลายหมดสิ้นเมื่อจบออกมา บางครั้งถึงขั้นงงๆ เดินไปต่อไม่ถูก โทรศัทพ์กลับไปหาคนที่โทรมาตอนดูอยู่แล้วไม่ได้รับ ก็พูดไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว
  • ความคุ้มค่า ผมรู้สึกว่าถ้าจะดูหนังแต่ละเรื่องให้ได้รายละเอียดสูงสุดจริงๆ เราต้องใช้สมาธิอย่างมาก บรรยากาศของโรงหนังเป็นที่ๆ ทำให้ผมเกิดสมาธิในการดูได้มากกว่า

พอดูหนังจบ ด้วยความเสียดาย ไม่อยากให้จบและลืมเลือนไป ผมจึงเอามาเขียนลงใส่ blog ส่วนตัวไว้ โดยตั้งใจไว้ว่า จะเขียนถึงทุกเรื่อง โดยหวังว่าวันหนึ่งที่เวลาผ่านไปเราได้กลับมาอ่าน blog เหล่านี้อีกครั้ง คงจะได้อะไรบ้างแน่นอน

ความหมดอารมณ์

พอมาถึงวันนี้อารมณ์ในการอยากศึกษาคนของผมหมดลดน้อยลง ผมเริ่มสามารถแบ่งกลุ่มและลักษณะนิสัยคนออกได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้คร่าวๆ แล้ว ซึ่งผมคิดว่าผมน่าจะทำได้เพียงเท่านี้ เพราะคนแต่ละคนสุดท้ายก็มีจุดลักษณะนิสัย ที่ไม่เหมือนคนอื่นอยู่ดี เราก็ต้องศึกษาเป็นคนๆ ไปในสถานการณ์จริง การสร้างฐานความรู้เรื่องคนของผมเริ่มสนุกน้อยลง ผมเริ่มเจอปัญหาซ้ำๆ เดิมๆ มากขึ้น ผมคุยกับคนน้อยลง ผมหยุดฟัง Club friday และผมก็ดูหนังน้อยลงด้วย

ผมยังเชื่อว่าหนังดีๆ ยังอยู่ในโรงอยู่ตลอด แต่ด้วยความอยากดูที่น้อยลง ความอยากทำอย่างอื่นที่มากขึ้น ผมจึงตัดหลายๆ เรื่องออกไป ตามความขี้เกียจ

เรื่องที่ค้างยังไม่เขียน

มีหนังอีกหลายเรื่องที่ผมดูในช่วงหลังๆ มานี้แล้วยังไม่ได้เขียนถึง คือ เรื่องเหล่านี้

  • Iron Man 2
  • The Twilight Saga: Eclipse
  • Inception
  • Despicable Me
  • บุญชู 10 จะอยู่ในใจเสมอ
  • กวน มึน โฮ
  • Toy Story 3

ผมยังคงดูหนังอยู่เรื่อยๆ แต่คงลดจำนวนน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก และคงมาเขียนถึงแค่บางเรื่อง ตามใจอยากเท่านั้น

ผมขอขอบคุณทุกท่านที่เคยผ่านเข้ามาพูดคุยกัน แชร์ประสบการณ์ให้รับฟัง ทุกๆคนเป็นส่วนหนึ่งให้ผม เป็นผมคนนี้ในปัจจุบันนี้ ซึ่งผมยินดีและมีความสุขกับตัวผมในปัจจุบันมาก

และที่ขาดไม่ได้ขอขอบคุณทุกคนที่เคยได้ดูหนังร่วมกันมากับผมครับ

ขอบคุณครับ